หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เป็นการพูดคุยในช่วงปี 2561
เรื่อง หัทยา ภูดี
ภาพ ต้นพงศ์ ทรัพย์สมบูรณ์
ในยุคที่เสียงของปัจเจกชนสามารถสะท้อนความคิดเห็นต่อประเด็นต่างๆ ได้รวดเร็วและเสียงดังมากขึ้น “จรรยาบรรณของสื่อสารมวลชนไทย” ถูกตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาและร้อนแรงจากหลายภาคส่วน
ไม่ว่าจะในยามวิกฤตหรือยามสงบ ในการนำเสนอเรื่องราวชีวิตของปัจเจกชน อะไรคือขอบเขตของความพอดี และอะไรคือเส้นชัยที่สื่อควรพามวลชนไปถึง
Interview Thailand ชวนคุณมาพูดคุยและถามหาคำตอบของสิ่งเหล่านี้จากกรุณา บัวคำศรี ผู้หญิงที่ปักหลักในอาชีพสื่อสารมวลชนมาเต็ม 20 ปีแล้ว
ขอบอกก่อนว่า บทสนทนานี้เกี่ยวข้องกับสื่อ สารคดีข่าว และความคิดความเชื่อของผู้หญิงคนหนึ่ง
ที่เชื่อมั่นในคอนเทนต์มากกว่าฟอร์แมต และยืนยันจะนำเสนอสิ่งที่บำรุงจิตวิญญาณมากกว่าอย่างอื่น
คุณเข้ามาทำงานในแวดวงสื่อสารมวลชนได้กี่ปีแล้วคะ แล้วอะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจก้าวเข้ามาทำอาชีพนี้
ทำงานสื่อมา 20 กว่าปีแล้ว เราเรียนจบอักษร จุฬาฯ ตอนเข้ามาเรียนด้วยความที่เราเป็นเด็กต่างจังหวัด อยู่ชายแดนอรัญประเทศ พอเข้ามากรุงเทพฯ แล้วงงๆ เลยหากิจกรรมทำ เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มเด็กหลังห้องที่ทำกิจกรรมมากกว่าเรียน ช่วงนั้นมีเหตุการณ์สำคัญคือ พฤษภาคม ปี 35 ความที่เราทำกิจกรรมเยอะ ได้เป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ตรงกับช่วงรัฐประหารพอดี พี่ๆ จากธรรมศาสตร์เขามาชวนเด็กจุฬาฯ ไปแสดงออกจุดยืนทางการเมือง เราก็ไปกัน และพัฒนาไปถึงเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ช่วงนั้นเราได้เข้าร่วมเหตุการณ์ ได้รับตำแหน่งรองเลขา สนนท. โดยเลขาฯ ตอนนั้นคือ อ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
กิจกรรมการเมืองยุคนั้นเป็นการลุกขึ้นของชนชั้นกลาง พอเย็นเลิกเรียนเราก็จะนั่งรถไปทำกิจกรรมที่ธรรมศาสตร์ หรือไปชุมนุมที่สนามหลวง เพื่อจะส่งเสียงบอกทุกคนเรื่องรัฐประหาร ว่าเราต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่
ตอนที่ทำกิจกรรมการเมือง เราได้รู้จักอาจารย์หรือนักการเมืองเยอะมาก ช่วงนั้น อ.อภิสิทธิ์ก็ยังเป็น อ.ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ คุณจาตุรนต์ ฉายแสง ตอนนั้นก็ยังอยู่พรรคความหวังใหม่ คุณสุธรรม (แสงประทุม) คุณชำนิ (ศักดิเศรษฐ์) พี่อ้วน ภูมิธรรม (เวชยชัย) ตอนนั้นก็เป็น NGO อยู่ ยังไม่ได้เข้าร่วมกับคุณทักษิณ และก็ได้รู้จักนักข่าวอย่างอาจารย์รุจ ที่สอนอยู่ธรรมศาสตร์ เขาเป็นนักข่าวอยู่ไทยรัฐและตามมาทำข่าว เรารู้สึกว่านี่คือกลิ่นอายและบรรยากาศที่เราอยากจะอยู่กับมัน ตอนแรกเคยอยากทำงานองค์กรระหว่างประเทศ แต่รู้ว่าตัวเองมีจุดอ่อนทางภาษา แล้วมีคนบอกว่าเราเหมาะที่จะเป็นนักข่าว ซึ่งมองย้อนกลับไป เรารู้สึกว่าเป็นคำแนะนำที่มีประโยชน์มาก เพราะเราชอบอะไรแบบนี้ ทำให้เราอยู่กับมันมาได้นานถึง 20 ปีแล้ว ไม่เคยเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นเลย
เริ่มงานที่แรกที่ Bangkok Post เรารู้สึกว่าอยากท้าทายตัวเอง ภาษาอังกฤษเราไม่ได้ดีมากหรอก ตอนสัมภาษณ์เราก็บอกเขาว่า ภาษาเราไม่ดี แต่เรามีความตั้งใจสูงมากที่จะพัฒนาไปให้ถึงจุดที่คนอื่นที่นี่ทำได้ พี่ว่าตอนนั้นผู้ใหญ่เขาคงไม่ได้ดูเราที่เรื่องภาษา เขาดูสิ่งที่เราทำมาและความสนใจของเราเหมาะกับสิ่งที่เขาต้องการพอดี พี่มีพื้นฐานความสนใจด้านการสังคม การเมือง เครื่องมือคือภาษาค่อยไปว่ากันทีหลัง ตอนนั้นงานที่คนอื่นใช้เวลาเขียน 1-2 ชั่วโมง เราอาจจะใช้เวลาถึงครึ่งวันหรือ 1 วันเต็ม ช่วงนั้นกินนอนที่ออฟฟิศเลย ทำงานที่ Bangkok Post 2 ปี เราได้ความมั่นใจและรู้สึกว่า ถ้าเรามีความพยายามพอ เราก็จะทำได้ อีกอันที่ได้คือ ทักษะการเรียบเรียงและวิเคราะห์ความคิดของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเป็นสื่อสารมวลชนทุกแขนง
จากนั้นเราอิ่มตัว ใจเริ่มอยากทำทีวี ตอนที่อยู่ Bangkok Post งานที่เราทำจะเป็น Investigative Report เน้นเจาะลึก ซึ่งงานเขียนแบบนั้นมันเหมือนงานวิชาการ ต้องใช้เวลากับมันเยอะมาก แต่ด้วยจริตของพี่ พี่เป็นพวกฉาบฉวยมากกว่านั้นไง พี่เป็นคนที่อาจจะสนใจเรื่องนี้ 1 เดือน อีกเดือนก็กระโดดไปสนใจเรื่องอื่น แล้วช่วงนั้นมันมีเหตุการณ์ต่อยอดจากพฤษภาทมิฬที่นำมาสู่การก่อตั้งทีวีเสรีอย่าง ITV ซึ่งเรารู้สึกผูกพันกับเหตุการณ์เหล่านี้ แต่เราได้ทุนไปเรียนต่อที่อังกฤษก่อน ตอนนั้นตั้งใจว่าถ้าเรียนจบจะกลับมาทำงานทีวีที่ ITV นี่แหละ ช่วงนั้นก็คุยกับพี่กิตติ (สิงหาปัด) ไว้บ้างเรื่องงานที่เราอยากจะทำ
กลับมาปี 40 เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งพอดี ซึ่งทำให้ไม่มีงาน ระหว่างนั้นเขาประกาศรับ Assistant Producer ของสถานีกระจายข่าวออสเตรเลีย เราก็ไปทำที่นั่น 1 ปี เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก แล้ววันนึงพี่กิตติมาบอกว่ามีตำแหน่งว่างที่ ITV ซึ่งนี่เป็นความประสงค์ที่เราตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก เลยตัดสินใจทำ
ที่ ITV คุณเป็นผู้ประกาศข่าวอย่างเดียว หรือว่าออกไปลุยทำข่าวด้วย
ทำคู่กัน ตอนนั้นตำแหน่งที่ว่างคือโต๊ะเศรษฐกิจ ทีนี้เขาเห็นเรารู้ภาษา เลยให้ทำเศรษฐกิจต่างประเทศ ส่วนงานที่ถูกส่งไปทำข่าวต่างประเทศครั้งแรกคือแผ่นดินไหวที่ไต้หวัน สมัยนั้นยังส่งเทปกันทางเครื่องบินอยู่เลย เพราะไม่มีอินเทอร์เน็ต เราต้องทำข่าว ตัดต่อ แล้วนั่งรถไปส่งเทปที่สนามบิน ถ้าไม่ใช้เทปก็ต้องส่งผ่านดาวเทียมซึ่งต่อนาทีจะแพงมาก
พออยู่ ITV ได้ 2 ปีครึ่งก็มีกรณีคุณทักษิณมาซื้อ ITV เรากับเพื่อนไม่ยอม เลยโดนไล่ออก หาว่าเป็นกบฏ ITV เราก็ฟ้องศาลอยู่ 4 ปีแล้วชนะ ตลอด 4 ปีนั้นไม่มีใครกล้าจ้างเลยนะ แต่ส่วนตัวพี่กับคุณทักษิณเราไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน เราแค่ไม่เห็นด้วยกับการที่เขามาซื้อ ITV เพราะ ITV มันเกิดจากเลือดเนื้อประชาชนที่ต้องการสื่อเสรี ต่อให้เป็นนักการเมืองคนอื่นมาซื้อเราก็ไม่ชอบ เพราะนักการเมืองไม่ควรที่จะเป็นเจ้าของสื่อ โดยเฉพาะสถานีที่ถูกก่อตั้งมาเพื่อเป็นสื่อเสรีแบบนี้
สุดท้ายเราก็กลับมาทำงานกับสำนักข่าวต่างประเทศเหมือนเดิม ทำอยู่ 3-4 ปี จนช่วงสงครามอิรัก ปี 2546 ก็กลับมาแปลข่าวต่างประเทศให้ช่อง 11 แล้วก็ได้ทำ Thai PBS จากนั้นย้ายไปช่อง 3 แล้วตอนนี้ก็ออกมาทำบริษัทผลิตรายการเอง
ตอนอยู่ Thai PBS เรารู้สึกเหนื่อยกับการเมืองมาก เพราะ Thai PBS ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของกลุ่มคนสีเหลือง ก่อนจะเป็น Thai PBS มันก็คือ ITV พอคุณทักษิณถูกรัฐประหารไปก็เลยถูกเปลี่ยนเป็น Thai PBS มันเป็นองค์กรที่ถูกการเมืองรุมตั้งแต่ก่อตั้งแล้วน่ะ ช่วงนั้นการเมืองร้อนแรงมาก เป็นช่วงที่คุณสมัคร (สุนทรเวช) ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน เกิดเหตุการณ์ชุมนุม จนถึงวันที่พันธมิตรเดินไปสนามบิน ซึ่งตอนนั้น Thai PBS เป็นช่องที่มีเวลามากพอที่จะทำข่าวพวกนี้ พี่ก็อยู่หน้าจอทั้งวัน สรุปประเด็นข่าว ตอนนั้นด้วยความที่เราถนัดข่าวการเมือง ช่องก็ให้เราจัดรายการ “ตอบโจทย์” บางวันมีทั้งจตุพร พรหมพันธุ์ และสุริยะใส กตะศิลา ในรายการ 2 คนนี้ก็เพื่อนเราทั้งนั้น เราคุยกับเขารู้เรื่อง แต่คนดูที่ไม่ชอบอีกฝั่งก็จะเขียนมาว่าเราหยาบคาย เราต้องเจอแบบนี้ทุกวัน เราไม่ได้บอกว่าตัวเองเป็นกลางหรือดีมาก แต่เราทำหน้าที่สื่อมวลชน โดยพยายามถามคำถามที่คิดว่าคนธรรมดาอยากรู้ แต่บังเอิญบางคำถามอาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่แต่ละฝั่งอยากได้ยินแล้วก็มาด่าเรา โดนด่ามาปีนึง มีม็อบทีก็ต้องมานั่งทำข่าว 7- 8 ชั่วโมง จนเริ่มรู้สึกไม่สนุกและไม่โอเคแล้ว ตอนนั้นเรามองตัวเองและอยากทำอะไรที่เราสนุกและเป็นประโยชน์กับคนอื่น ก็เลยลาออกแล้วไปทำกับช่อง 3 ต่อ อีกเหตุผลที่มาช่อง 3 คือเรื่องรายได้ด้วย เพราะเรามองถึงเรื่องเกษียณอายุแล้ว ตอนนั้นเสนอช่อง 3 ว่าขอทำ 2 ปีแล้วเกษียณที่อายุ 40 ปี ซึ่งพอมาอยู่แล้ว ด้วยความที่ช่องมีความเป็นพี่น้องกันค่อนข้างสูง ทำให้เราไม่ต้องปะทะหรือกดดัน ก็สนุก จากเดิมที่เคยคิดว่าจะอยู่ 2 ปีก็อยู่นานถึง 7 ปี เป็นบริษัทที่ทำงานนานที่สุด
แต่พอถึงจุดหนึ่ง เราเริ่มตกตะกอนว่าเราทำข่าวมา 20 ปี จำได้ไหมว่าทำอะไรไปบ้าง เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ทำสิ่งที่ท้าทายแล้ว ถึงให้ไปทำข่าวที่เนปาล ก็แค่รายงานข่าว 3 นาทีจบ อาจจะได้ไปในจุดที่คนเข้าไม่ถึง แต่มันก็จบแค่นั้น เรารู้สึกมันไม่อิ่ม อยากทำอะไรในเชิงสารคดี หรือทำข่าวที่มีความยาวมากขึ้นผสมเชิงสารคดีลงไป เราอยากให้มากกว่าข้อมูล อยากให้คนฟังข่าวมีความเข้าใจ และรู้สึกร่วมกับข่าวนั้นด้วย เลยเป็นที่มาของสารคดีข่าวความยาวครึ่งชั่วโมง สารคดีข่าวแนวนี้ที่ต่างประเทศมีเยอะ ตอนที่เราทำงานกับ ABC ของออสเตรเลีย เขาก็มีรายการฟอร์แมตนี้เลย เอาปรากฏการณ์ข่าวต่างประเทศมาอธิบายลงลึก ซึ่งบ้านเราไม่มีแบบนี้ มีแค่รูปแบบรายการท่องเที่ยว
สารคดีข่าวแนวนี้ไม่มีคนทำเพราะว่า 1) ใช้พลังงานสูงมาก 2) ไม่มีคอนเน็กชั่น เช่น ตอนที่เราเข้าไปอิรัก ต้องไปคุยกับคนที่นั่น ว่าเขาอยู่ยังไง เขารู้สึกยังไง เข้าไปในชีวิตของคนเลย สารคดีข่าวต่างจากรายการท่องเที่ยวตรงที่มันเป็นประเด็นนำสถานที่ ไม่ใช่สถานที่นำประเด็น ก่อนเราจะไปทำสารคดีข่าวเราต้องรู้ก่อนแล้วว่าเข้าไปจะโดนอะไร จะไปคุยกับใคร ไปที่ไหนก่อน และสถานที่นั้นเข้าไปได้หรือเปล่า แล้วถ้าเข้าไม่ได้ ต้องทำยังไงต่อ สิ่งเหล่านี้ถ้าเป็นสารคดีท่องเที่ยว เช่น ทัวร์ร้านซูชิ ถ้าร้านปิด ยังไปร้านอื่นได้ แต่การลงพื้นที่ของเราถูกจำกัดด้วยกรอบบางอย่าง ซึ่งเราก็รู้ แต่เราอยากจะทำ อยากจะรู้ลิมิตของตัวเองว่าจะทำได้ไหม
รายการแบบนี้ที่ต่างประเทศนี่งบเยอะมากนะคะ นำเสนอสารคดีข่าวแบบนี้สัปดาห์ละครั้ง แต่เขามี 8 ทีม และเรื่องหนึ่งใช้เวลาเตรียมงานก่อนออกอากาศ 3-4 เดือน ของเรานี่ เดือนหนึ่งทำ 4 เรื่อง ดังนั้นเวลาไปทำข่าวต่างประเทศเราต้องคิดแล้วว่าจะไปที่นี่ ต้องได้อย่างน้อย 2 เรื่อง ต้องเดินทางไม่หยุดเพื่อที่จะสะสมเรื่องไว้ เวลาเดินทางทำรายการจะไปกับช่างภาพ รวมเราก็เป็น 2 คน ใช้ความคล่องตัวเป็นหลัก
ทำไมถึงเลือกผลิตรายการ “The World รอบโลก”
ตอนนั้นช่อง 3 ไม่ได้อยากให้เราออกเลยนะ ก็คุยกันเรื่องรายการนี่แหละ แต่เรารอมาสักพักแล้ว ด้วยข้อจำกัดของช่อง เราก็เข้าใจ แต่ในวันนั้น ความฝันของเราไม่ได้อยู่ที่การอ่านข่าวแล้ว มันอยู่ที่อื่น ซึ่งช่องเขาก็มองว่า ถ้าเขาไม่อยู่ในสถานะที่จะให้ (เวลา) เราทำได้ เขาก็ให้เราไปดีกว่า จากนั้นก็มีคนติดต่อมาหลายที่ เราตัดสินใจคุยกับทีม PPTV เล่าความฝันของเราให้เขาฟัง เราเข้าใจแหละว่าตลาดไทยคนดูเล็กมาก เราไม่สามารถที่จะฝันถึงงบประมาณเยอะๆ ได้หรอก เขาก็บอกเราว่าถ้าเราอยากทำอะไรให้ทำเลย เขามั่นใจในตัวเรา ช่วง 2-3 เดือนแรกก็ลองผิดลองถูกกัน
รายการยังไม่สมบูรณ์หรอก เพราะมีข้อจำกัดหลายอย่าง อย่างเราไปที่อิรัก เราอยู่แค่สัปดาห์เดียวก็ต้องไปต่อแล้ว ซึ่ง 1 สัปดาห์กับ 2 สัปดาห์นี่ มันต่างกันมากนะ กว่าจะเริ่มคุ้นเคยกับคนในพื้นที่เราก็ต้องกลับแล้ว การทำงานแบบนี้ต้องใช้ความเชื่อใจ ความคุ้นเคย กว่าเขาจะชวนเราไปบ้าน กว่าจะชวนเรากินข้าวด้วย ต้องใช้เวลา แต่เราพยายามทำให้ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดเรื่องทรัพยากรคน เงิน และเวลาที่มีอยู่ เราคิดมาตลอดว่าตัวเองจะทำสารคดีข่าวแบบนี้ได้ไหม แต่ผลลัพธ์ออกมาคือเราก็ทำได้
ในรายการ “รอบโลก” จะมีการใช้ภาษาที่กินใจ มีความเป็นวรรณกรรมสูง ใครเป็นคนเขียนสคริปต์รายการ
เราเป็นคนเขียนเอง แต่จะมีคนที่มาขัดเกลาเรื่องให้ คือน้องสาวเรา แต่หลังๆ ข่าวเยอะมาก ถ้าทำไม่ทันจะให้น้องในออฟฟิศช่วยด้วย แล้วเราจะมาดูอีกทีตอนท้าย ก่อนจะส่งให้น้องสาวขัดเกลาสำนวน น้องสาวของเรา เขาอยากเป็นนักเขียน เขาอ่านหนังสือเยอะมาก แต่ว่าแต่งงานแล้วต้องไปอยู่ต่างจังหวัด ซึ่งเขาก็มีความสุขนะ ทีนี้ตอนเรามานั่งอ่านข่าวที่เราเขียน พบว่าสำนวนเราเป็นข่าวมากเกินไป อยากให้กินใจมากกว่านี้ แต่ด้วยเวลาที่มีจำกัด เลยส่งให้น้องสาวช่วยขัดเกลาสำนวนหน่อย
ความยากของการทำสารคดีคือการต้องเข้าให้ถึงแหล่งข้อมูลหรือผู้คนอย่างแท้จริง ยิ่งคุณทำรายการ “รอบโลก” ที่มีกำแพงภาษาและวัฒนธรรมกั้นอยู่ คุณใช้เทคนิคอะไรในการซื้อใจหรือเข้าถึงผู้คนที่เราเห็นในรายการ
ต่อให้เป็นพื้นที่สงครามนะ ใครๆ ก็เข้าไปได้ ถ้าคุณมีเงิน จ่ายค่าเครื่องบิน บินไป จ้างรถกันกระสุน จ้างบอดี้การ์ดก็เข้าไปได้แล้ว อันที่จริงต่อให้เป็นขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ คุณไปได้หมด เพราะการสื่อสารและการเดินทางสมัยนี้ง่ายกว่าแต่ก่อน แต่ว่าการเข้าถึงที่ยากคือการเข้าถึงคน
ยกตัวอย่างเรื่องโสเภณีที่สิงคโปร์ ตอนแรกเขาจะไม่ยอมให้เราสัมภาษณ์นะ เราก็ไปนั่งคุยกับเขา เขาถามเราว่าทำไมถึงสนใจเรื่องนี้ เราบอกว่า เรารู้สึกว่าอาชีพนี้ถูกมองเข้าใจผิดที่สุดในโลกแล้ว แต่เขาก็ยังไม่ยอม เราเลยเอารูปที่เราเคยไปทำรายการที่อัมสเตอร์ดัม (เนเธอร์แลนด์) ให้เขาดู เป็นเทปที่เกี่ยวกับสถานค้าบริการในอัมสเตอร์ดัม เป็นภาพเรานั่งอยู่หน้ากระจกเลย หลังจากนั้นเขาก็เปิดใจเล่าให้เราฟังทั้งหมด หรือเทปที่อัมสเตอร์ดัม ที่นั่นเขาไม่ให้เราถ่ายรูปโสเภณีเลยนะ เราก็เลยคิดว่าเราจะทำยังไงถึงจะถ่ายรูปได้ เลยถามเขาแล้วไปตามหาคนที่เป็นเจ้าของสถานค้าบริการ ไปเล่าจุดประสงค์ของเราให้เขาฟัง โดยเฉพาะเรื่องที่เซ้นสิทีฟ เราก็จะถามเขาก่อนว่า เขาโอเคไหม เราจะชัดเจนกับเรื่องนี้มาก ไม่เคยแอบถ่าย จะถามทุกคนว่าพร้อมเปิดเผยไหม และถ้าเราบอกว่า จะปิด (หน้า) ก็คือเราปิด เพราะสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นคือการที่เขาเกิดอันตราย
คิดว่าสิ่งที่ทำให้เขากล้าเปิดใจกับเราคือ เราชัดเจนกับเขาก่อน บอกเขาตรงๆ ถึงจุดประสงค์ของเรา อย่างตอนไปสัมภาษณ์โสเภณีที่สิงคโปร์ เขาเป็นมุสลิมจากอินโดนีเซียและเขากลัวมาก เขายอมให้สัมภาษณ์ แต่ห้ามบอกว่าเขามาจากอินโดนีเซีย เราก็บอกเขาไปตรงๆ ว่า “ไม่ได้” เพราะสุดท้ายภาษาที่เขาใช้ คนอื่นที่ฟังออกก็รู้อยู่ดีว่าเป็นภาษาของที่ไหน ปกปิดลำบาก ดังนั้นเราจะไม่เมินเฉยกับเรื่องเล็กน้อยเหล่านี้ บางคนเขาไม่รู้เทคนิคทางทีวี ไม่รู้ว่าบางอย่างคนดูที่รู้ก็รู้เลย แล้วถ้าเป็นเรื่องที่สุดท้ายจะกระทบความปลอดภัยของเขา ของครอบครัวเขา เราก็จะไม่โกหก จะบอกให้รู้ พี่คิดว่านี่คือสิ่งที่ทำให้แหล่งข่าวเชื่อถือเรา
อะไรคือคุณสมบัติสำคัญของการเป็นนักสารคดี
ของพี่ไม่ใช่สารคดีเพียวๆ นะคะ แต่เป็นสารคดีข่าว ซึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องมีคือ
1) ทักษะในการเล่าเรื่อง จริงๆ เป็นทักษะที่ต้องใช้ในทุกอาชีพนั่นแหละค่ะ ซึ่งการเล่าเรื่องนี้จะเกี่ยวโยงไปถึงประเด็นที่เราเลือก คนที่เราคุย พอได้มาแล้วเราจะเริ่มยังไง จะจบยังไงด้วย ถ้าคุณเป็นคนที่เล่าเรื่องเก่งมากนี่คุณไปได้ไกลเลยนะ ซึ่งที่ออฟฟิศเราก็จะสอนกัน ถ้ามีน้องใหม่ เราจะสอนให้เขาลองเขียน 10 ข้อเกี่ยวกับข่าวนี้ แล้วนึกว่าถ้าต้องเล่าให้เพื่อนฟัง จะเล่ายังไง ยกเนื้อหาไหนขึ้นก่อนไหน
2) ทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะไม่ใช่ทุกครั้งที่จะทำได้อย่างที่ใจคิด เราเคยบินไปฮ่องกงเพื่อสัมภาษณ์โจชัว หว่อง (นักประท้วงชาวฮ่องกง) ตอนนั้นเขาโดนห้ามเข้าเมืองไทย พอเราไปถึง ปรากฏว่าเขาให้สัมภาษณ์ไม่ได้แล้ว ซึ่งแหล่งข่าวบางแหล่งมันทดแทนกันไม่ได้ไงคะ เราบินมาเพื่อสัมภาษณ์เขาน่ะ ทีนี้เราจะแก้ปัญหายังไงดีล่ะ เราก็ต้องหาหนทาง สุดท้ายคือเราถามเขาว่า เขาต้องไปไหน แล้วเราตามไป เรียกได้ว่าแก้ไขปัญหาตามสถานการณ์ให้ได้มากที่สุด
3) คือทัศนคติที่ไม่ยอมแพ้ อย่างตอนเราไปทำเรื่องโรฮิงญาที่พม่า เราตัดสินใจทำเรื่องผู้หญิงโรฮิงญา เพราะเป็นกลุ่มคนที่เรียกได้ว่าอยู่ล่างสุดแล้ว คือถ้าในหมู่มวลมนุษยชาติ โรฮิงญาถือว่าเป็นชนชั้นล่างแล้วนี่ ผู้หญิงโรฮิงญายิ่งอยู่ต่ำสุดเลย ตอนนั้นพี่บอกทีมประสานงานว่า อยากคุยกับผู้หญิงที่เขามีเรื่องเล่า ที่ผ่านเหตุการณ์ข่มขืนหรือถูกจับแต่งงานมา ซึ่งผู้หญิงที่ถูกข่มขืนนี่เขาตกลงจะเปิดใจคุยแล้ว แต่ลังเลเพราะกลัว โดยที่ตอนนั้นเรายังไม่ได้เจอหน้าเขาเลยน่ะ ตอนนั้นฝนก็ตกด้วย ทางก็ไกล คือบางคนอาจจะถอดใจแล้วเปลี่ยนไปสัมภาษณ์คนอื่นแล้ว แต่พี่รู้สึกว่าอยากเจอเขาก่อนน่ะ ขอไปหาเขา ให้เขาเห็นหน้าเรา ถ้าเราคุยกับเขาแล้วเขาไว้ใจ เราจะทำสารคดีชิ้นนี้ต่อ แต่ถ้าไม่ได้ ก็ต้องหาทางแก้ปัญหากันหน้างาน พอตัดสินใจได้อย่างนั้น เราก็เดินข้ามน้ำข้ามถนนไป ฝ่าฝนไปครึ่งวันเพื่อไปหาเขา ซึ่งพอเขาเริ่มผ่อนคลาย เขาก็ยอมคุยและเล่าให้ฟัง
วันนั้น สิ่งที่ทำให้พี่ยอมฝ่าฝนครึ่งวันเพื่อไปเจอหน้าเขาก็คือทัศนคติแบบนี้แหละ เราจะไม่ยอมถอดใจง่ายๆ กับอุปสรรคที่เข้ามา เพราะเราอยากได้เรื่องที่กินใจคน จับใจคนได้ เรื่องที่ทำให้คนรู้สึกว่า ยังมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบนโลกด้วยเหรอ
คุณเคยเจอคนที่มีเรื่องราวน่าสนใจ แต่เขาพูดหรือถ่ายทอดไม่เก่งไหม
เคยเจอค่ะ ถ้าเจออย่างนั้น เราก็ต้องปรับบุคลิกของเรา จะถามเขาแบบทื่อๆ ไม่ได้ การมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์จนเขาไว้ใจเรานี่ บางทีมันอธิบายลำบาก พี่จะพยายามสังเกตดูว่าเขาชอบอะไร ทำให้เขาวางใจที่จะคุยกับเราก่อน ซึ่งสำหรับพี่ สิ่งที่ทำให้เราเป็นอย่างนี้ได้คือการอ่าน เพราะพอเราอ่าน เราจะรู้เรื่องราวต่างๆ เราจะไม่สามารถต่อบทสนทนาได้เลยถ้าเราไม่รู้ว่าที่นั่นเขาทำอะไรกันบ้าง ว่าโลกไปถึงไหนแล้ว พอเราหาจุดร่วมหรือทัศนคติที่ไปทางเดียวกับแหล่งข่าวของเราได้ จะทำให้เขารู้สึกอยากเล่าให้ฟัง
การเดินทางไปรอบโลกแบบนี้ ใครเป็นคนจ่ายค่าเดินทางให้คุณ
เราได้เงินมาจาก PPTV เป็นเงินก้อนต่อเทป ซึ่งพี่จะมาบริหารจัดการเองว่าจะให้ช่างภาพเท่าไหร่ ค่าตั๋วเท่าไหร่ ค่าตัวเราเท่าไหร่ ค่าโรงแรม ค่าอาหารการกิน ทุกอย่างรวมอยู่ในนี้หมด
ทำรายการแนวนี้ ในแง่ธุรกิจถือว่าอยู่ได้ไหม
อยู่ได้นะ อย่างน้อยเรามีเงินในการจ้างทีมงาน เหลือบ้าง อาจจะไม่เยอะ ตอนคุยกับ PPTV เราบอกเลยว่า สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเราไม่ใช่กำไร แต่เราอยากรู้ว่าเราจะทำได้หรือเปล่า สามารถทำงานที่สร้างความต่างจนคนอื่นเห็นได้หรือเปล่า แต่เรื่องเงินเราต้องไม่เข้าเนื้อ ซึ่งงบที่เขาให้มาพอสำหรับการจัดการทีมเล็กๆ ของเราโดยมีกำไรเหลืออยู่บ้าง และทีมงานที่อยู่กับเรา เขาบอกว่า เขารู้สึกได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างด้วย ซึ่งเราว่านี่คือสิ่งสำคัญ
ตอนที่เราลาออกจาก ABC มาทำงาน ITV เป็นช่วงที่เงินเดือนเราลดนะ เปลี่ยนงานแล้วเงินเดือนลดนี่คนเขาไม่ค่อยทำกันใช่ไหม แต่เราทำไง เพราะสำหรับเรา เรายอมที่จะเปลี่ยนงานไปทำงานที่อยากทำ มองว่านี่คือการลงทุน เราอยู่ตัวคนเดียว เลี้ยงปากเลี้ยงท้องเราได้ มีเงินเก็บก้อนนึงก็พอแล้ว อย่างตอนอยู่ช่อง 3 เราอ่านข่าวอย่างเดียว ไม่ต้องทำอย่างอื่นเลยนะ เงินเดือนกลับเยอะมาก พอออกมาทำสารคดีข่าวแบบนี้ เงินเดือนน้อยกว่า 1 ใน 3 เลยนะ แต่ต้องทำเองหมดเลย ตั้งแต่เขียนสคริปต์ นัดแหล่งข่าว แต่เรากลับรู้สึกว่าเราเลือกถูกทางแล้ว ตอนเราอยู่ช่อง 3 เรารู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก แต่พอถึงจุดอิ่มตัวแล้วต่อให้เราทำงานครึ่งชั่วโมงแล้วรับเงินครึ่งล้านเราก็ไม่มีความสุข เราต้องการอาหารทางจิตใจมากกว่า ไม่ได้บอกว่าเงินไม่สำคัญนะคะ แต่เราไม่ได้มุ่งเรื่องเงินเป็นหลัก เพราะว่าถ้าเรามุ่งเรื่องเงินมากกว่าสิ่งที่เราอยากทำ เราอาจไม่เลือกเส้นทางที่นำเรามาอยู่จุดนี้ก็ได้
จาก “รอบโลก” ที่คุณไปมา ที่ไหนหรือบุคคลไหนที่คุณติดอยู่ในใจคุณมากที่สุด
ที่อยู่ในใจที่สุดจะเป็นเทปแรกๆ เลย เราไปอิรัก ตอนนั้นโมซุลกำลังจะแตก แล้วคนสนใจประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ IS เราก็สนใจเรื่องนี้ แต่ในประเด็นเรื่องทหารหญิง คือพวก IS นี่จะกลัวยูนิตทหารผู้หญิงมากเลยนะ เพราะเขาเชื่อว่า ถ้าถูกผู้หญิงฆ่า เขาจะไม่ได้ไปสวรรค์ ซึ่งนักรบหญิงกลุ่มนี้ที่ไปรบราฆ่าฟันกับ IS นี่เก่งมากนะ เขาเคยเจอเรื่องหนักๆ มาเยอะไง สูญเสียบ้าน สูญเสียครอบครัว แล้วคนกลุ่มนี้อายุแค่ 17-25 ปีเอง แต่ต้องลุกมาจับปืนรบ เราสนใจประเด็นนี้ ก็ตามไปสัมภาษณ์เขา อาจจะไม่ได้ขึ้นไปอยู่แนวหน้ากับเขา แต่ก็ถือว่าคลุกคลี เสียดายได้อยู่แค่ 2 วัน
พอเรากลับมา ผ่านไปได้ 2 เดือน ได้รับข้อความในเฟซบุ๊กจากเด็กผู้หญิงคนหนึ่งในกลุ่มนักรบที่เราเคยสัมภาษณ์ คือเราเคยไปทำเรื่องผู้ลี้ภัยที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปยุโรปน่ะ ช่วงที่เกิดคลื่นผู้อพยพจากซีเรีย แล้วเราเคยเล่าเรื่องนี้ให้นักรบหญิงกลุ่มนี้ฟัง เขาจำได้ เขาเขียนมาเล่าว่า เขากำลังจะพาพ่อแม่และหลานชายออกจากอิรักเพื่อไปอยู่เยอรมนี เพราะคิดว่าสถานการณ์ที่อิรักไม่ดีขึ้นแน่ๆ จะต้องถูกฆ่าหมดแน่ๆ แล้วพอเขาส่งครอบครัวไปได้แล้ว เขาจะกลับมาจับปืนรบต่อ แต่เขาไม่เคยเห็นทะเลมาก่อน แล้วเขากลัวมากที่จะต้องข้ามทะเล ช่วงที่น่ากลัวคือช่วงที่ข้ามจากตุรกีไปกรีซ ที่เคยมีข่าวเด็กเสียชีวิตนั่นแหละค่ะ
เขาถามเราว่า “มันเป็นยังไง” เพราะรู้ว่าเราเคยไปทำข่าวมาก่อน แล้วเขาอยากให้เราช่วยบอกเขาว่า เขาจะโอเค ซึ่งพอเราอ่านข้อความเขาแล้ว มันสะเทือนใจเรามากเลย เพราะเราคิดออกว่าเขาต้องเจอกับอะไรบ้าง ต้องลงเรือยาง คลื่นแรงมาก ความเป็นความตายมันอยู่ใกล้กันมากเลยนะ คือเขารบกับ IS เขาไม่กลัวน่ะ แต่เขากลัวทะเล เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ติดอยู่ในใจเราชัดเจนมาก
ในฐานะผู้หญิงที่ออกไปรอบโลกเพื่อทำสารคดีเชิงข่าว คุณคิดว่าการเป็นผู้หญิงเป็นข้อด้อย หรือทำให้คุณได้เปรียบกันแน่
เราว่าไม่ได้อยู่ที่ความเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายหรอก อยู่ที่ว่าเราทำอะไร การเข้าไปในพื้นที่อันตราย มันก็เสี่ยงตายพอๆ กันไม่ว่าจะเพศไหน แต่ที่อาจจะหลอนหน่อยคือ รูปแบบการโดนทรมานน่ะ ดังนั้นเราไม่คิดว่าการเป็นผู้หญิงเป็นอุปสรรคนะ อาจจะมีบ้างเวลาต้องเดินทางกะทันหันไปยังประเทศมุสลิมที่มีข้อจำกัดเยอะหน่อย แต่ว่าข้อจำกัดนั้นไม่ได้ทำให้เราถึงกับทำงานไม่ได้หรอก เอาเข้าจริงนะ เวลาเราไปทำงาน เช่น ไปอิรัก เราไม่เคยเจอปัญหาหรือข้อจำกัดเรื่องการเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายเลย หรืออย่างตอนเทปโรฮิงญา มีเรื่องทำคลอด เขาไม่ให้ช่างภาพเราที่เป็นผู้ชายเข้า อันนั้นเราก็เป็นคนถ่ายเอง ซึ่งเท่ากับว่าความเป็นผู้หญิงก็น่าจะได้เปรียบ หรืออย่างเรื่องผู้หญิงที่ถูกข่มขืน เราก็นึกไม่ออกว่าถ้าเป็นผู้ชายไปสัมภาษณ์เขาจะเล่าหรือเปล่า ในบางแง่เราอาจจะเสียเปรียบในเรื่องความแข็งแรง ไม่อึดเท่าผู้ชาย แต่ในแง่ของความเป็นมนุษย์ บางสถานการณ์ความเป็นผู้หญิงอาจจะเข้าถึงความเป็นมนุษย์ของคนได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะกับผู้หญิงด้วยกัน
คุณทำอาชีพสื่อมากว่า 20 ปี มองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับอาชีพสื่อสารมวลชนยังไงบ้าง ทุกวันนี้สื่อยังสร้างแรงกระเพื่อมหรือเปลี่ยนแปลงสังคมได้อีกไหม
สร้างแรงกระเพื่อมได้นะคะ แต่ว่าจะถูกลืมเร็ว และการสร้างแรงกระเพื่อมในวงกว้าง หรือระดับแมส จะยากหน่อย แต่ถ้าพูดถึงข่าวที่มันสะเทือนใจมากๆ ก็ไม่ใช่แค่เราคนเดียวที่ทำ เช่น ข่าวเด็กอายุ 14 ปีถูกข่มขืน ก็ทำกัน 20 ช่อง ซึ่งน่าจะส่งแรงกระเพื่อมได้บ้าง แน่นอนว่า สื่อแต่ก่อนมีอิทธิพลและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่า อย่างตอนเราทำข่าวที่ไอทีวีเรื่อง “ส่วย” ไปแอบถ่ายตำรวจรับเงินจากรถบรรทุก วันรุ่งขึ้นเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นระดับประเทศเลยนะ มีการสืบสวนและดำเนินการ แต่ยุคนี้ ความที่ข้อมูลเยอะ คนดูต้องมาแยกอีกที สำหรับเราในฐานะคนทำสื่อ เราต้องคิดหนักกว่าเดิม ทุกวันนี้สำหรับเรา การที่รายการทำให้คนดูเข้าใจชีวิตคนอื่น หรือพูดออกมาได้ว่า “ไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนเลย” ได้ แค่นี้เราก็พอใจแล้ว
แล้วการที่แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook, YouTube รวมถึง Instagram มีนโยบายใหม่ๆ ด้านวิดีโอคอนเทนต์ อย่างล่าสุด Instagram เพิ่งเปิด Instagram TV ให้คนอัปโหลดวิดีโอได้ยาวกว่า 1 ชั่วโมง ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กระทบคุณในฐานะผู้ผลิตสารคดีข่าวหรือวิดีโอคอนเทนต์อย่างไรบ้าง
แพลตฟอร์มก็คือแพลตฟอร์ม คอนเทนต์ก็คือคอนเทนต์ เราว่าแพลตฟอร์มก็จะพัฒนาต่อไปไม่หยุดหรอก ต่อไปอาจจะไม่ได้มีแค่ Facebook, YouTube, Instagram แต่แพลตฟอร์มจะไม่มีความหมายถ้าคุณไม่มีคอนเทนต์ ที่เราทำอยู่ก็คือคอนเทนต์ ฉะนั้นถามว่ากระทบหรือเปล่า มันกระทบในแง่ที่ว่า คอนเทนต์คนอื่นจะเยอะขึ้น คนดูจะมีตัวเลือกเยอะ แต่เราไม่มีทางเลือกอื่น ทางเลือกของเราคือ การทำคอนเทนต์ให้ดี ทำให้คนดูรู้สึกว่าดูตอนแรกแล้วอยากดูตอนที่สอง อยากรู้ว่าต่อไปเราจะทำข่าวอะไร มีอะไรอื่นอีกบ้างในโลกใบนี้ นั่นคือสิ่งที่เราทำได้
สุดท้าย ต่อให้คุณมีแพลตฟอร์ม 100 กว่าแพลตฟอร์ม แต่ถ้าคอนเทนต์คุณไม่โดน มันก็ไม่มีประโยชน์
คุณเดินทางบ่อยขนาดนี้ ดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง
ถ้ากลับมากรุงเทพฯ จะเยียวยาตัวเองด้วยการนอน ยังไงก็ตามจะนอนให้พอ การนอนสำคัญที่สุดแล้ว แล้วก็ดูแลเรื่องอาหาร เพราะเวลาเดินทางเราเลือกอาหารการกินไม่ได้ แต่พอกลับมา เราจะเลือกวัตถุดิบ เข้าครัวและทำอาหารเอง ถ้ามีเวลาก็ไปยืดเส้นยืดสาย เล่นโยคะ แล้วก็เล่นกับหมา
คุณมีโรลโมเดลในการทำงานหรือการใช้ชีวิตบ้างไหม
มีเป็นเรื่องๆ ไป จะไม่มีคนที่แบบเพอร์เฟ็กต์ เราจะเอาจากคนนั้นนิดคนนี้หน่อย อย่างเรื่องงานจะเอามาจากต่างชาติ เราชอบทัศนคติในการทำงานของคนต่างชาติ เช่น การพูดกันตรงๆ เราจะบอกคนที่ออฟฟิศเลยว่า มีอะไรให้พูดตรงๆ และเราจะบอกเขาตรงๆ ด้วย เช่น ถ้าเขียนสคริปต์ไม่ดี จะบอกกันนะ หรือถ้าพี่ทำตัวงี่เง่า เป็นเจ้านายที่ลำเอียง ก็ให้เขาบอกเรามาเลย
อีกอย่างคือการยอมรับผิด เราว่าเป็นทัศนคติที่ต้องมี เรายึดสิ่งนี้เป็นหลักในการทำงานเลย ยิ่งทำงานสารคดีข่าว ลุยไปรอบโลกกับช่างภาพ 2 คน เหมือนเราลงเรือลำเดียวกันน่ะ ถ้าทำอะไรผิดพลาด ต้องยอมรับตรงๆ เลย เช่น เคยไปบังกลาเทศ ช่วงนั้นค่อนข้างอันตราย แล้วช่างภาพเราดูข้อมูลสนามบินผิด เราก็บอกตรงๆ ว่าคุณดูข้อมูลผิด ต้องยอมรับ จะไม่แก้ตัว เราไม่เคยโกรธคนที่ทำผิดเลย แต่เราจะโกรธคนที่ทำผิดแล้วแก้ตัว อย่ากลัวที่ตัวเองทำผิด ถ้าทำไม่ได้ เราต้องมาแก้ปัญหาด้วยกัน สมมุติถ่ายงานแล้วภาพใช้ไม่ได้เลย อย่ามาบอกว่า “แดดไม่ดี” ถ้ารู้ว่าแดดไม่ดี ก็ต้องถ่ายมุมอื่น ต้องบอกกันตรงๆ
มาตรฐานในการทำงานแบบกรุณา บัวคำศรี
มาตรฐานของเราคือ เรื่องที่เราทำจะต้องให้อะไรบางอย่างกับคนดู อาจจะเป็นข้อคิด ให้สิ่งที่เขาไม่เคยรู้มาก่อน ภาพที่เขาไม่เคยเห็น สิ่งที่เราพยายามที่จะไม่ให้มีในรายการเลย คือเรื่องที่ไม่สำคัญต่อจิตวิญญาณของเรา ไม่ใช่ว่าจะทำแต่เรื่องเครียดนะคะ อาจจะสร้างเสียงหัวเราะ รอยยิ้มก็ได้ แต่เรื่องนั้นต้องบำรุงจิตวิญญาณ